ไม่ควรมองผ่าน “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่คุณพ่อคุณแม่
มูลนิธิประณัยยาและอาร์เธอร์ มากอฟฟิน (PAM Foundation)
จัดงาน “เปิดใจคุยกัน มารู้จักกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด”
สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่คุณพ่อคุณแม่
มูลนิธิประณัยยาและอาร์เธอร์มากอฟฟิน (Pranaiya & Arthur Magoffin Foundation) หรือ PAM Foundation จัดงาน “เปิดใจคุยกัน มารู้จักกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โดย มี Dr.Maddalena Miele-Norton จิตแพทย์จากสหราชอาณาจักร และ พญ.ญาดาวี ตั้งตรงไพโรจน์ แพทย์จิตเวชศาสตร์ ร่วมด้วย มร.เฮมิช มากอฟฟิน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ PAM Foundation คุณเปิ้ล จริยดี-คุณเจย์ สเปนเซอร์ และ คุณหนิง ศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา ที่มาแบ่งปันประสบการณ์จริงในฐานะผู้ที่เคยประสบภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ณ สำนักงานใหญ่ บริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด
มร.เฮมิช มากอฟฟิน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ PAM Foundation เล่าถึงประสบการณ์และแรงบันดาลใจ ในการก่อตั้งมูลนิธิว่า “ในปี 2564 ได้สูญเสียภรรยา คุณประณัยยา อุลปาทร และ ลูกชาย น้องอาร์เธอร์ไปอย่างน่าเศร้าจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด คุณประณัยยาเป็นที่รักของทุกคนและเป็นคุณแม่ที่ทุ่มเทให้กับลูกมาก ส่วนน้องอาร์เธอร์ก็สร้างความสุขให้กับคนรอบข้าง ด้วยเหตุนี้จึงตัดสินใจก่อตั้งมูลนิธิในชื่อของทั้งสองคน ด้วยจุดประสงค์ที่จะสานต่อการทำงานเพื่อสังคมของคุณประณัยยา รวมถึงสร้างการรับรู้ สนับสนุนการดูแลและการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและภาวะอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนและหลังการคลอดบุตร”
งานวิจัยจาก 80 ประเทศทั่วโลกที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature พบว่า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดขึ้นกับมารดามากกว่า 1 ใน 6 คน โดยแต่ละคนจะมีลักษณะและความหนักของอาการที่ต่างกันออกไป นอกจากสถิติที่สูงของการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดแล้ว ยังสามารถพบอาการทางจิตเวชอื่นๆที่เกิดกับมารดาในช่วงก่อนและหลังการคลอดบุตร โดยประเด็นเหล่านี้มักจะไม่ถูกกล่าวถึงในวงกว้าง น้อยคนที่จะรับรู้ถึงภาวะอาการเหล่านี้ รวมถึงมุมมองทั่วไปในสังคมเกี่ยวกับปัญหาจิตวิทยาที่ไม่เป็นบวกนัก ส่งผลให้ผู้ที่ประสบภาวะอาการเหล่านี้มีความกังวลที่จะถูกตัดสินจากบุคคลภายนอก จึงทำให้การต่อสู้กับภาวะอาการทางจิตเวชในช่วงก่อนและหลังการคลอดบุตรยากขึ้นไปอีก
“ภาวะอาการทางจิตเวชเหล่านี้ เริ่มเป็นที่รับรู้ในสังคมและมีการพูดถึงมากขึ้นแบบเปิดเผย อย่างไรก็ดี คุณภาพของการรักษาผู้ป่วยที่ประสบภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและภาวะต่างๆที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการดูแลผู้ใกล้ชิดของผู้ป่วยในประเทศไทย ยังสามารถที่จะพัฒนาได้อีกมาก PAM Foundation จึงถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยมี 3 วัตถุประสงค์หลักในการทำงานเกี่ยวกับโรคภาวะซึม เศร้าหลังคลอดและโรคทางจิตเวชอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สร้างการรับรู้และให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การให้ความดูแลแก่พ่อแม่มือใหม่ และการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม”
ภายในงานยังมีการเปิดตัวกิจกรรมระดมทุนกิจกรรมแรกของมูลนิธิ PAM Foundation โดย มร.เฮมิช จะร่วมวิ่งในรายการ JOGLE ที่ประเทศสหราชอาณาจักร เป็นระยะทางกว่า 1,400 กิโลเมตร จากตอนเหนือสุดของสก็อตแลนด์ลงไปถึงจุดล่างสุดของประเทศสหราชอาณาจักรที่เมืองคอร์นวอลล์ทางตอนใต้ โดยใช้เวลารวม 17 วัน นับตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2565 เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมูลนิธิ และภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รวมถึงระดมทุนเพื่อใช้ในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
สามารถติดตามคลิปวีดีโองาน “เปิดใจคุยกัน มารู้จักกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” และรายละเอียดเกี่ยวกับ มูลนิธิประณัยยาและอาร์เธอร์ มากอฟฟิน (PAM Foundation) และ JOGLE รวมถึงกิจกรรมต่างๆของมูลนิธิได้ที่เว็บไซต์ www.pamfoundation.org