เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย เปิดตัวองค์กรผู้นำการจัดการก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมาย Net Zero

 เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย
เปิดตัวองค์กรผู้นำการจัดการก๊าซเรือนกระจก
ยกระดับความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero

เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย ประกาศยกระดับความร่วมมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในงานสัมนาประจำปี 2565 “Thailand Carbon Neutral Network: Climate Action Partnership towards Carbon Neutrality/Net Zero Emission” เปิดแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยองค์กรผู้นำการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization หรือ CALO) เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในระดับองค์กรภายในปี พ.ศ. 2593 เพื่อสนับสนุนนโยบายของประเทศไทยและเป้าหมายของประชาคมโลกภายใต้ความตกลงปารีส

งานสัมมนาสมาชิกเครือข่าย TCNN ประจำปี 2565 จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ  เตรียมความพร้อมของประเทศไทย ในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก โดยได้รับฟังการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงเกียรติ Mr. Sergey Kononov, Manager of Programmes Coordination Unit จาก UNFCCC Secretariat ในหัวข้อ Progress from COP 26 and Expectations for COP 27” และนางรสริน อมรพิทักษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนามาตรการและกลไก กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในหัวข้อ “บทบาทของไทยในเวทีโลกด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการเตรียมความพร้อมสู่ COP 27”

โดยงานสัมนาได้สรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และแผนการดำเนินงานเครือข่ายในปีต่อๆ ไป และได้ส่งเสริมให้กำหนดเป้าหมาย Carbon Neutral ในระดับองค์กร การสร้างมูลค่าเพิ่มจากคาร์บอนเครดิตภายในประเทศตามวิสัยทัศน์การเป็น “เครือข่ายแกนนำของประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero

ไฮไลท์สำคัญของงาน คือการเปิดตัวองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization หรือ CALO) องค์กรที่แสดงความเป็นผู้นำในการแสดงเจตนารมณ์ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่คาร์บอนนิวทรัลและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในระดับองค์กร โดยมีปีเป้าหมายและแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ซึ่งได้มีการพัฒนาเกณฑ์ในการรับรองอ้างอิงจากโครงการ Climate Neutral Now ร่วมกับสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC secretariat ซึ่งเป็นการยกระดับ TCNN ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยปัจจุบันมี 48 องค์กรที่ได้รับการรับรองสมาชิกองค์กร โดยการเปิดตัวองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก ภายใต้เครือข่าย TCNN ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดตั้ง 

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์  ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ที่ปรึกษาเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย “TGO มุ่งมั่นเสริมสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืนในอนาคต

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  ประธานเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย “ในนามของประธานของเครือข่าย TCNN ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และพร้อมสนับสนุนองค์กรสมาชิกในการเตรียมความพร้อมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมผลักดันการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนจะเป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน  และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตลอดจนนำพาประเทศไทยให้ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำไปด้วยกันอย่างยั่งยืน”

Mr. Miguel Naranjo, Program Officer, Climate Neutral Now Lead, UNFCCC Secretariat “ผลกระทบของสภาพภูมิกากาศที่เปลี่ยนแปลงขยายตัวขึ้น และผู้ที่มีส่วนได้เสียเข้าใจสถานการณ์และได้รับผลกระทบมากขึ้นเช่นกันทั้งในทางธุรกิจ ชีวิตประจำวัน รวมทั้งทุกภาคส่วนของสังคมโลกของเรา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่สามารถรีรอที่จะลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไข พวกเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อตอบสนองปัญหา ที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อไปและภาคส่วนของธุรกิจด้วยเช่นกัน”

คุณรสริน อมรพิทักษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนามาตรการและกลไก กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “สผ. ในฐานะหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ พร้อมสนับสนุนและประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065”

ดร. ชญาน์  จันทวสุ  (ประธานคณะอนุกรรมการด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลจำกัด (มหาชน) “การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่เป้าหมาย Carbon Neutral และ Net Zero ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกับการใช้เครื่องมือและกลไกต่างๆ ในการขับเคลื่อน TCNN เป็นหนึ่งในเครือข่ายสำคัญของประเทศที่ทุกองค์กรจะเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานใหม่ BCG ของประเทศ”

นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ (ประธานคณะกรรมการเครือข่ายฯ) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) “TCNN มุ่งมั่นที่จะเป็นเครือข่ายแกนนำของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero และพร้อมที่จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรสมาชิก ในการบรรลุเป้าหมายคาร์บอนนิวทรัลในระดับองค์กร”

นางกลอยตา ณ ถลาง (ประธานคณะอนุกรรมการด้านตลาดคาร์บอน) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) “ตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย มีความตื่นตัวมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นธุรกิจใหม่ที่มีผู้ให้ความสนใจสูง อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐบาลผ่านสิทธิประโยชน์และมาตรการต่างๆ ซึ่งการรวมตัวเป็นเครือข่ายอย่าง TCNN จะช่วยให้สามารถสะท้อนความคิดเห็นจากองค์กรสมาชิกสู่หน่วยงานภาครัฐได้”

นายอิทธิพล เลิศศักดิ์ธนกุล (ประธานคณะอนุกรรมการด้าน Climate Finance) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายสินเชื่อวิสาหกิจขนาดใหญ่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ““Climate Finance เป็นกลไกสำคัญที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยการเชื่อมโยงเป้าหมาย Climate Change เข้ากับนโยบายทางการเงินขององค์กร ผมหวังว่าคณะอนุกรรมการด้าน Climate Finance จะเป็น focal point ในการสนับสนุน ให้ข้อมูล และข้อเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่เพื่อนสมาชิก และผู้ประกอบการทั่วไป”

คุณแดน ปฐมวาณิชย์ (ประธานคณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) “จากรายงานของ IPCC ได้ประกาศให้โลกรู้ว่า ภาครัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม บริษัท และผู้นำทั่วโลก มีหน้าที่จะต้องขับเคลื่อนในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในขณะนี้ นี่คือการปลุกให้ประเทศไทย ยอมรับและตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงนี้และต้องร่วมกันกำหนดแนวทางในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มิฉะนั้นเราอาจพบว่า พวกเรากลายเป็นผู้ที่ไม่มีศักยภาพในการแข่งขันไปแล้วในอนาคตอันใกล้ก็เป็นได้”

 อนึ่ง เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย หรือ Thailand Carbon Neutral Network หรือ TCNN เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก จัดตั้งโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2564  เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และมุ่งสู่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามเจตนารมณ์ของประชาคมโลกที่ปรากฏในเป้าหมายของความตกลงปารีส ปัจจุบัน มีสมาชิกจำนวน 275 องค์กร ประกอบไปด้วย องค์กรเอกชนบริษัท (Companies) สถาบันการศึกษา (Academic Institutions) มูลนิธิ (Foundations) สมาคมธุรกิจ (Business Associations) องค์กรระหว่างประเทศ (International Organization) และองค์กรภาครัฐ (Public Sector Organizations)

Facebook Comments Box